Sunday, February 10, 2008

โรคสำคัญที่ควรเฝ้าระวังในการเลี้ยงสัตว์ป่า (ประเภทสัตว์กีบ)

โดย งานสัตวแพทย์ ส่วนคุ้มครองสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช

โรควัณโรค (Tuberculosis, TB)
เป็นโรคเรื้อรังที่ติดต่อระหว่างสัตว์และคน เป็นได้ในสัตว์เกือบทุกชนิด
สาเหตุ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium bovis ซึ่งเชื้อจะถ่ายทอดโดยตรงจากตัวป่วยสู่ตัวปกติผ่านทางลมหายใจ การกินอาหาร และน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ การเลี้ยงแบบแออัดจะเป็นปัจจัยเสริมให้โรคแพร่ระบาดได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น
อาการ สัตว์ป่วยจะแสดงอาการในระยะท้ายๆ ของโรค เนื่องจากขบวนการก่อโรคเป็นไปอย่างช้าๆ แบบเรื้อรัง จนกระทั่งเกิดรอยโรคที่มีลักษณะเป็นก้อนฝีอยู่ในอวัยวะต่างๆ จึงจะแสดงอาการเช่น ไอ เหนื่อยง่าย ผอม หลังจากแสดงอาการได้ไม่นานก็ตาย

การรักษา ไม่ทำการรักษา เนื่องจากไม่ให้ผลดี และใช้ระยะเวลานาน

การควบคุม/ป้องกัน
ตรวจดูลักษณะอาการทั่วไป น้ำหนักลด ซูบผอม มีอาการเกี่ยวกับระบบหายใจ ต่อมน้ำเหลืองบวมโต
การทดสอบทางผิวหนัง เน้นการทดสอบโรคโดยการฉีดสารทูเบอร์คูลินเข้าชั้นผิวหนัง ที่บริเวณใต้โคนหาง หรือแผงคอ อ่านผลโดยการวัดความหนาของชั้นผิวหนังหลังฉีด 72 ชั่วโมง


โรคปากและเท้าเปื่อย (Foot and Mouth Disease, FMD)
สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัส Aphthovirus โดยตัวป่วยจะมีเชื้ออยู่เป็นจำนวนมากในน้ำมูก น้ำลาย ปัสสาวะ และอุจจาระ ปนเปื้อนอยู่ในพื้นคอกและวัสดุต่างๆ และถ่ายเชื้อให้ตัวปกติโดยการสัมผัสสิ่งปนเปื้อนและสัมผัสตัวป่วยโดยตรง

อาการ สัตว์ที่ไม่ไวต่อโรค อาจรับเชื้อโดยไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการเล็กน้อย เช่น อาจมีตุ่มใสในปากเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนตัวที่ไวต่อโรคจะแสดงอาการรุนแรง น้ำลายไหลมาก ซึม เดินกะเผลก และมีแผลหลุมบนเยื่อเมือกปาก และอาจตายได้

การรักษา ทายาเย็นเชี่ยนไวโอเล็ต(ยาม่วง)ที่แผลในปาก และกีบ ร่วมกับการฉีดยาปฏิชีวนะป้องกันเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน

การควบคุม/ป้องกัน ยังไม่มีการทดลองใช้วัคซีนในกวาง
 
โรคแท้งติดต่อ (Brucellosis)
เป็นโรคติดต่อระหว่างคนและสัตว์ และเป็นได้ในสัตว์หลายชนิด เช่น โค กระบือ สุกร แพะ แกะ สุนัข ม้า และกวาง

สาเหตุ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Brucella spp. ติดต่อโดยเชื้อที่มีอยู่ในลูกแท้ง รก และปัสสาวะของตัวป่วย ผ่านเข้าทางปาก เยื่อเมือกของจมูก ตาขาว ช่องคลอด และลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย แล้วไปยังอวัยวะเป้าหมายได้แก่ มดลูกที่ตั้งครรภ์ ต่อมน้ำนม ม้าม ลูกอัณฑะ ต่อมน้ำเหลือง และข้อต่อ

อาการ สัตว์ป่วยจะแท้งลูก ลูกตายขณะคลอด ผสมไม่ติด รกค้าง ลูกอัณฑะอักเสบ ขากะเผลกอย่างรุนแรง และข้อขาบวม

การรักษา ไม่ทำการรักษา

การควบคุม/ป้องกัน ทำการตรวจโรคนี้ให้แก่กวางทุกตัวในฝูงปีละ 1 ครั้ง แล้วคัดตัวป่วยออก นอกจากนี้ควรตรวจโรคกวางก่อนซื้อ และซื้อกวางจากฟาร์มที่ไม่มีประวัติการป่วยด้วยโรคนี้

โรคพาราทูเบอร์คูโลซิส (Johnne's disease)
เป็นโรคเรื้อรังของระบบทางเดินอาหารของสัตว์สี่กระเพาะ เช่น กวาง โค แพะ และแกะ

สาเหตุ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium paratuberculosis ซึ่งเชื้อจะผ่านทางอุจจาระตัวป่วย เข้าสู่ตัวปกติทางการกินน้ำ อาหาร การเลียเต้านมที่ปนเปื้อนเชื้อ และทางน้ำนม

อาการ สัตว์ป่วยจะแสดงอาการท้องเสียอย่างรุนแรง และเรื้อรังเป็นเวลานาน ทำให้ซูบผอม ขาดน้ำ และตาย อัตราการตายอาจสูงถึง 30% ในกวางอายุระหว่าง 8 - 15 เดือน โดยเฉพาะลูกสัตว์แรกเกิดจะมีอัตราการตายสูงมาก

การรักษา ไม่นิยมทำการรักษา 

การควบคุม/ป้องกัน ยังไม่มีการใช้วัคซีนในกวาง ควรกำจัดตัวป่วยโดยการทดสอบทางภูมิคุ้มกันในเลือด
 
โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax)
สาเหตุและการแพร่โรค โรคนี้มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Bacillus anthracis ส่วนมากเกิดจากการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ในดินหรือหญ้าเข้าสู่ร่างกาย หรือเกิดจากการกินน้ำและอาหารที่มีเชื้อปะปนอยู่เข้าไป อีกทั้งการติดเชื้อทางบาดแผล เมื่อเชื้อเข้าตัวสัตว์แล้วจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นกระจายอยู่ตามอวัยวะต่างๆ  พร้อมกับสร้างสารพิษขึ้นมาทำให้สัตว์ป่วยและตายในที่สุด ในระหว่างสัตว์ป่วยเชื้อจะถูกขับออกมากับอุจจาระ น้ำปัสสาวะหรือน้ำนม หรือทำการเปิดผ่าซาก เชื้อนี้เมื่อสัมผัสกับอากาศก็จะสร้างสปอร์ในเวลาเวลา 2-3ชั่วโมง เพื่อให้ตัวเชื้อคงทนอยู่ในสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ โดยสปอร์สามารถอยู่ในดินได้นานกว่า 10 ปี ขึ้นไป มีโอกาสที่จะเกิดโรคในที่แห่งเดิมได้อีกถ้าสภาวะแวดล้อมเหมาะสมในการเจริญเติบโตของเชื้อ และเชื้อคงทนในน้ำเดือดได้นานถึง 30 นาที

อาการ แบบเฉียบพลัน ตายอย่างรวดเร็ว สัตว์จะมีอาการซึม หายใจเร็ว ลึก หัวใจเต้นเร็ว ไข้สูงประมาณ 107 องศาฟาเรนไฮท์ เยื่อชุ่มต่างๆ มีเลือดคั่งหรือมีจุดเลือดออก กล้ามเนื้อสั่นบวมน้ำตามลำตัว ท้องอืดและตายในที่สุด เมื่อสัตว์ตายจะมีเลือดสีดำคล้ำไหลออกตามทวารต่างๆ เช่น จมูก ปาก ทวารหนักหรือแม้แต่ขุมขน ซากสัตว์จะขึ้นอืดเร็ว ไม่แข็งตัว ห้ามทำการผ่าซากถ้าสงสัยว่าเป็นโรคนี้

โรคพยาธิใบไม้ในตับ (Liver fluke)
สาเหตุ Fasciola hepatica และ Fascioloides magna โดยมีหอย Lymnaea เป็นพาหะ มักติดพยาธิได้ในแหล่งชื้นแฉะ เนื่องจากความชื้นเป็นสิ่งจำเป็นในวงจรชีวิตของพยาธิโดยเฉพาะการเติบโตของไข่พยาธิ และการเคลื่อนที่ของตัวอ่อน

อาการ อาจไม่แสดงอาการ หรือโลหิตจาง ผอม

การรักษา ให้ยาถ่ายพยาธิ 

การควบคุม/ป้องกัน กำจัดหอยที่เป็นพาหะ  ให้ยาถ่ายพยาธิปีละ 1 - 2 ครั้ง

โรคอนาพลาสโมซิส (Anaplasmosis)
สาเหตุ เกิดจากเชื้อ Anaplasma marginale การแพร่โรคไม่จำเป็นจะต้องอาศัยสิ่งมีชีวิตเป็นตัวนำโรค แต่อาศัยการสัมผัส(mechanical transmission) ได้แก่ แมลงทุกชนิด เข็มฉีดยา และอุปกรณ์ต่าง ๆ

อาการ จะขึ้นกับปริมาณเชื้อที่สัตว์ได้รับ ในกรณีที่ติดเชื้อจำนวนไม่มาก กวางจะเป็นตัวอมโรค โดยไม่แสดงอาการ แต่ในกรณีที่มีเชื้อจำนวนมากจะทำให้กวางเกิดโรคโลหิตจางอย่างรุนแรง

ารรักษา ใช้ยา Oxytetracycline 

การควบคุม/ป้องกัน จะต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ทุกชนิดที่ใช้ในการเลี้ยง

โรคพยาธิเม็ดเลือด (Trypanosome)
สาเหตุ เกิดจากเชื้อ Trypanosoma evansi เป็นโปรโตซัวที่มีอยู่ในกระแสโลหิตของสัตว์เคี้ยวเอื้องทั้ง โค กระบือ และกวาง รวมไปทั้ง สุกร ม้า และสุนัข สามารถพบเชื้อนี้ได้ทั่วไป แต่จะรุนแรงในอูฐ ม้า สุนัข และช้าง พบมากในช่วงฤดูฝน โดยจะมีเหลือบ และแมลงวันคอกเป็นพาหะนำโรค

อาการ ไข้สูง โลหิตจาง ดีซ่าน บวมน้ำตามลำคอ เบื่ออาหาร โดยมักเกิดในช่วงที่มีไข้สูง สัตว์ที่ท้องจะแท้งลูก กระจกตาขุ่น เกิดอัมพาตที่ร่างกายส่วนท้าย สัตว์จะตายได้ ในบางรายจะแสดงอาการทางประสาทร่วมด้วย

การรักษา ตัวยา Diminazene aceturate

การควบคุม/ป้องกัน กำจัดแมลงดูดเลือดที่เป็นพาหะของโรค และมีการให้ยาในขนาดต่ำๆ เป็นประจำโดยเฉพาะช่วงต้นของฤดูฝน

โรคมงคล่อเทียม (Melioidosis)
เป็นโรคที่พบได้ในสัตว์พวก โค กระบือ สุกร แพะ แกะ กวาง สุนัข แมว หนู และม้า โรคนี้พบในทุกภาคของประเทศไทยและพบมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถติดต่อถึงคนได้
สาเหตุ เชื้อแบคทีเรีย Burkholderia pseudomallei
การติดต่อ เชื้อแบคทีเรีย ชนิดนี้ พบได้ทั่วไปในดิน น้ำ โคลนตม สามารถอยู่ในน้ำได้นานประมาณ 8 สัปดาห์และอยู่ในโคลนตมได้ประมาณ 7 เดือน สัตว์เป็นโรคนี้ได้จากการกินหรือหายใจเอาเชื้อเข้าไปหรือเชื้อเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล โรคมงคล่อเทียมจะพบมีการระบาดมากในช่วงฤดูฝน

อาการ โรคแบบเรื้อรัง ร่างกายจะซูบผอม มีไข้ หายใจหอบ น้ำมูก น้ำลายไหล จะแสดงอาการอยู่นาน 2 - 3 เดือนแล้วก็ตาย บางตัวอาจแสดงอาการทางระบบประสาท เช่น เดินขาหลังอ่อนไม่มีแรง ชนคอก เป็นต้น ในเพศผู้อาจพบลูกอัณฑะบวมโตข้างในข้างหนึ่งเสมอ เนื่องจากมีหนองแทรกอยู่ระหว่างลูกอัณฑะและหนังหุ้มลูกอัณฑะ 
การตรวจวินิจฉัย ให้สังเกตจากอาการและเก็บตัวอย่าง เช่น เลือด น้ำมูก น้ำนม น้ำเมือกจากช่องคลอดส่งห้องปฏิบัติการ ในกรณีกวางตายเมื่อเปิดผ่าซากให้เก็บอวัยวะภายในต่างๆที่พบตุ่มหนองและเก็บเนื้อสมอง ไขสันหลัง ถ้ากวางตัวนั้นมีอาการทางระบบประสาทด้วย
การรักษา ให้ยาปฎิชีวนะ

การควบคุมและป้องกัน

1. แยกกวางที่แสดงอาการป่วยออกจากฝูง

2. ทำความสะอาดพื้นคอกและปล่อยให้พื้นแห้ง เพราะถ้ามีการเปียกแฉะจะทำให้เป็นที่อยู่ของเชื้อแบคทีเรียตัวนี้ได้ดี

An Official ZWVST Blog Discussion Topic

Wednesday, December 12, 2007

ประสพการณ์....การจัดการช้างป่าขาหัก

ประสพการณ์....การจัดการช้างป่าขาหัก

โดย น.สพ.พีรพร มณีอ่อน

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2545 ผมได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ว่าพบช้างป่าได้รับบาดเจ็บ และเคลื่อนย้ายตัวด้วยการลากขาวิ่ง จึงเข้าไปตรวจสอบ พบว่า ช้างที่บาดเจ็บเป็นช้างป่า เพศผู้ อายุประมาณ 8-10 ปี (Sub-adult) มีเลขประจำตัวคือ F 8/5 ช้างตัวนี้เป็นช้างอยู่ในครอบครัวที่ 8 (F8) มีประวัติอยู่ในการศึกษาสำรวจช้างป่าในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พบครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2544 มีสมาชิกในโขลงโดยปกติ จำนวน 11 ตัว ลักษณะจำแนกคือ มีงายาวจากริมฝีปากประมาณ 10 –12 นิ้ว มีตำหนิที่หูข้างซ้ายมีรูตรงกลางใบหู เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 นิ้ว เมื่อติดตามไปดูพบช้างจำนวน 3 เชือก อยู่ในกลุ่มเดียวกับช้างที่บาดเจ็บ ช้างตัวที่บาดเจ๊บแสดงอาการบาดเจ็บบริเวณขาหลังด้านซ้าย โดยเห็นอาการบวมตั้งแต่บริเวณ femur – patella เมื่อเคลื่อนไปได้ประมาณ 20 m และหยุดพักประมาณ 3-5 นาที นอกจากนี้ยังพบเห็นรอยขาลากเป็นทางยาวประมาณ 2-3 km ช้างมีพฤติกรรมหวาดระแวงและพยายามเข้าทำร้ายกลุ่มเจ้าหน้าที่ผู้ติดตาม ผม และคณะจึงได้ทำการถ่าย VDO และบันทึกภาพไว้ เมื่อนำข้อมูลมาวินิจฉัยได้ข้อสรุปเบื้องต้นดังนี้ ช้างป่า F8/5 น่าจะเกิด fracture บริเวณ femur region ใกล้กับ Patella bone ส่วนของ knee joint ทำให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อ เอ็น และเส้นประสาทบริเวณนั้น จึงแสดงอาการเจ็บปวด เดินขาลาก และไม่สามารถใช้ขาหลังซ้ายได้ โอกาสรอด 30% ตาย 70% หลังจากให้เจ้าหน้าที่ลาดตระเวณป่าไม้คอยติดตามอยู่ห่าง ๆ พบว่า ช้างป่า F8/5 ก็ยังคงอาศัยอยู่เดี่ยว ๆ เดินตามโขลงไม่ทัน หวาดระแวง จึงเกรงว่าถ้าปล่อยไว้ต่อไป กระดูกที่หักอาจแทงทะลุกล้ามเนื้อเป็นแผลเปิดได้ และเล็บเท้าหลังซ้ายที่เดินลากมาเป็นระยะเวลานานนั้นจะเกิดเป็นแผลเปิด ทำให้มีโอกาสที่จะเกิด Septicemia ถ้าไม่ช่วยเหลืออาจจะเสียชีวิตได้ ในขั้นต้นรักษาโดยให้ยาปฏิชีวนะ แคลเซียม และวิตามิน ยัดใส่ในกล้วย ให้กินอยู่ประมาณ 5 วัน อาการเริ่มดีขึ้น การเคลื่อนไหวดีขึ้น ตอนแรกผมวางแผนไว้ว่าจะ Dart ยาสลบ แล้วควบคุมโดยการกักบริเวณไว้ในรั้วไฟฟ้า เพื่อที่จะได้สะดวกในการติดตามผล และตรวจรักษา แต่หลังจากยัดยาไว้ในกล้วย 5 วันแล้วอาการดีขึ้น ซึ่งสังเกตได้จากรอยขุดของเล็บขาหลังซ้ายข้างที่หักที่ลดลง จากในช่วงแรกก่อนให้ยาวัดรอยขาลากได้ยาวประมาณ 2 เมตร หลังจากติดตามรอยขาลากไปเรื่อย ๆ พบว่า รอยขาลากเริ่มสั้นลงเรื่อย ๆ และเห็นร่องรอยการกินอาหารตลอดเส้นทางที่เดินอยู่ในป่า แสดงให้เห็นว่าสุขภาพเริ่มดีขึ้น ถึงแม้ว่าจะล้มเลิกความคิดที่จะยิงยาสลบแล้วกักบริเวณช้างไป แต่พวกเราก็ยังไม่ลดความพยายามที่จะ Monitoring ร่วมกับการให้ยาใส่ในกล้วย บางครั้งธรรมชาติก็ไมสามารถอธิบายได้ ถึงแม้ว่าผมจะเป็นหมอเล่าเรียนมาทางวิทยาศาสตร์ แต่ของบางอย่างไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่ ก่อนเข้าป่าในแต่ละครั้งคณะทำงานของเราจะทำพิธีเบิกป่าเบิกไพร เซ่นไหว้เจ้าพ่อเขาใหญ่ เจ้าปู่เขาเขียว เจ้าพ่อเขาเขียว ถึงแม้การกระทำดังกล่าวจะเป็นเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ แต่ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ได้เข้าไปติดตามช้างในป่าไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ ที่เป็นอุปสรรคร้ายแรงในการทำงานเลย ตัวผมเองนั้นได้ออกติดตามช้างป่าเชือกนี้มานาน โดนนักวิชาการหลาย ๆ ท่านที่ไม่ใช่นายสัตวแพทย์ลงข่าวหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับ การปฏิบัติการช่วยเหลือช้างป่าครั้งนี้ว่า สัตวแพทย์ไม่เคยช่วยเหลือช้างป่าแล้วรอดตายได้สักที บางท่านก็บอกว่ากับแค่ช้างป่าเชือกเดียว ปล่อยให้ตายไปก็ไม่เห็นเป็นไร บางท่านก็บอกว่า สัตวแพทย์ไทยไม่มีความสามารถ และเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะช่วยเหลือช้างป่าได้เลย ด้วยความเป็นหมอที่เพิ่งทำงานได้ไม่ถึงปี ก็รู้สึกสับสน แต่ในใจก็คิดว่าถึงเวลานี้แล้ว เราเป็นหมอ ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ และต้องขอขอบคุณคำวิจารณ์ต่าง ๆ จากนักวิชาการทุกท่าน รวมทั้งหนังสือพิมพ์ ที่ช่วยเป็นตัวจุดประกายแรงผลักดันให้เกิดความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือช้างป่าเชือกนี้ให้ถึงที่สุด ท่านหม่อมเจ้ารังสีนพดล ยุคล พอได้ทราบข่าว ท่านทรงเป็นห่วงช้างป่าเชือกนี้เป็นอย่างยิ่ง (ปกติท่านก็รักช้างมาตลอด) พอทราบข่าวว่าลูกท่าน (F8/5) บาดเจ็บ ทรงเสด็จมาที่เขาใหญ่ร่วมกันติดตามช้างป่าตัวนี้ตลอดทั้งวันทั้งคืนด้วยความเป็นห่วง ถึงแม้ว่าสุขภาพของท่านหญิงจะไม่แข็งแรงก็ตาม และท่านหญิงก็ได้เป็นขวัญและกำลังใจให้กระผมและเจ้าหน้าที่ทุกคนในการติดตามการรักษาช้างตัวนี้ ในขณะที่ติดตามอยู่ป่า บางครั้งก็มีคำถามกับตัวเองอยู่เสมอว่าทำไมต้องเสี่ยงชีวิตถึงขนาดนี้ ต้องเดินในป่าเขาใหญ่เป็นเวลาหลายเดือน บางครั้งเดินตามรอยไปหลงในดงกระทิง ฝ่าดงงูเห่า ข้ามดงเสือผ่าน เดินมาทั่วเลย และเป็นเรื่องที่ยากมากกับการเดินตามหาช้างป่าตัวเดียวในป่าพื้นที่ 2500 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ในช่วงหน้าฝนมีทั้งทาก โคลน แมลง สัตว์ป่าอันตรายต่าง ๆ มากมาย เจ้าหน้าที่ที่ติดตามไปด้วยจะมีปืนลูกซอง M-16 ปืนพก แต่ผมมีแค่ปืนยิงยาสลบเก่า ๆ แต่ประสิทธิภาพสุดยอด ผมเองก็น้อยใจ ไม่มีอาวุธติดตัวเลย เจ้าหน้าที่เลยให้มีดมา 1 ด้าม เราเองก็ดีใจที่เค้าเป็นห่วงเรา แต่พอนึกอีกที มีดด้ามเดียวจะไปสู้กับช้าง หมี หรือเสือได้อย่างไร ก็เลยค้อนใส่เจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่พอได้ฟังเราค้อนปุ๊บก็หันมาบอกว่า “หมอ lot เข้าใจอะไรผิดหรือเปล่า ไอ้มีดที่ให้ไปน่ะ ไม่ได้ให้เอาไปสู้กับเสือหรือหมีหรอก เอาไว้ให้หมอ lot แทงอกตัวเองต่างหาก เวลาเจอเสือหรือหมีเข้าทำร้าย หมอ lot จะได้ไม่ตายเพราะถูกเสือหรือหมีฆ่า” มันน่าขอบคุณไหมล่ะ ก็เป็นอีกบรรยากาศหนึ่งในการทำงาน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ทุกคนค่อนข้างเก่ง และเป็นกันเอง หน้าที่ของพวกเขาก็คือพาหมอไปหาช้าง และคอยคุ้มครองป้องกันหมอ (แต่พอถึงเวลาอันตรายจริง ๆ ก็วิ่งกันป่าราบทุกที) ช่วงเวลาที่อยู่ในป่า พวกเราค่อนข้างรักกันมาก และได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่าง ๆ ซึ่งกันและกัน และสิ่งสำคัญที่ผมได้จากพวกเจ้าหน้าที่ คือการใช้เครื่อง GPS การดูแผนที่ และการใช้เข็มทิศ ต่อให้เดินป่าที่ไหนทั่วโลก ถ้ามี 3 สิ่งนี้ ยังไงก็ไม่หลง ช่วงต้นเดือนตุลาคม เป็นช่วงหน้าฝน ฝนในเขาใหญ่ตกหนักมาก แต่เราก็ไม่ละความพยายามที่จะติดตาม ตากฝนเป็นวัน ๆ ทากก็เยอะมากในช่วงหน้าฝน ช่วงแรก ๆ ไม่ชอบทากเลย แต่พอหลัง ๆ เริ่มชินและสนุก ดูดได้ดูดไป เอาเลือดชั่วออกไปบ้างก็ดี (แต่กว่าจะเอาเลือดชั่วออกหมด สงสัยเกิด Hypovolumic shock พอดี) พอถึงต้นเดือนพฤศจิกายน ฝนตกหนัก ทำให้เราไม่สามารถติดตามหาร่องรอยลากขาของช้างที่บาดเจ็บได้ พยายามหาร่องรอยการเดิน และการกินอาหารก็ไม่เจอ จึงได้ระดมเจ้าหน้าที่ลาดตระเวณป่าไม้พลิกผืนป่าทั้งหมดเพื่อตามหา แต่ก็ไม่พบร่องรอย ในใจก็ได้แต่ภาวนาขอให้มีชีวิตอยู่เถอะ please ทุก ๆ คืนจะขับรถถนนเส้นเขาใหญ่ – ปราจีนบุรี เพียงเพื่อหวังว่าจะพบช้างป่าออกมาบนถนน แต่ก็ไร้วี่แวว เอาไงดีวะกู จะเป็น GOD หรือ DOG วะ และแล้ว เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ก่อนถึงวันปีใหม่ ปรากฏว่าโขลง F8 ออกมาเดินบนถนน พร้อมกันนั้นก็ได้นับจำนวนสมาชิกในโขลง Oh! My god สมาชิกทั้งหมดนับได้ 12 ตัว F8/5 เดินตามโขลงออกมาถนน โอ้ละพ่อ เค้ายังมีชีวิตอยู่ สังเกตการเคลื่อนไหว พบว่าเขาสามารถเคลื่อนไหวโดยลงน้ำหนักขาหลังซ้ายได้เกือบปกติ สุขภาพดี เดินออกมากินดินโป่งอย่างมีความสุข ทำให้พวกเราทีมงานทั้งอุทยานและนักท่องเที่ยวมีความปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง เลยคิดสรุปเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ว่า เราคิดถูกแล้วที่ยังไม่ยิงยาสลบในตอนนั้น Monitoring ไปเรื่อย ๆ หรือว่าพฤติกรรมช้างป่าในช่วงที่เราติดตามหาร่องรอยไม่พบ เค้าน่าจะมีที่แห่งใดแห่งหนึ่งในป่าเป็นเหมือนที่หลบซ่อนรักษาพยาบาลตัวเอง ร่วมกับอาศัย Natural Healing Monitoring เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลรักษาสัตว์ป่าในป่า เพื่อที่จะได้เป็นการประเมินสภาพของสัตว์ได้ โดยที่เราไม่จำเป็นที่จะนำเอามา Admit ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาด้านการจัดการต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย จากประสบการณ์ในครั้งนี้ ได้แนวทางในการรักษาสัตว์ป่าป่วยในป่า ว่าให้เน้นธรรมชาติบำบัด ร่วมกับการให้ยาในอาหาร หรือ dart ยาระยะไกล และไม่จำเป็นที่จะต้องนำสัตว์มา Admit treatment และ supportive แค่ช่วงเดียว แล้ว Monitoring สัญชาตญานการเอาตัวรอดของช้างป่า จะช่วยให้มันอยู่รอดเอง แต่ก็ไม่ควรจะละเลยที่จะเข้าไปช่วยเหลือเลย และที่สำคัญที่สุดคือ Monitoring เพื่อเป็นการประเมินสภาพสัตว์ป่วย ขอขอบคุณ - หม่อมเจ้ารังสีนพดล ยุคล - อุทยานแห่งชาติ เขาใหญ่ - โครงการอนุรักษ์เขาใหญ่ - ชมรมสัตวแพทย์สวนสัตว์และสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย - อีกหลายท่านที่มิได้เอ่ยนาม

By: หมอล๊อต...ปลายงาเคี่ยวเข้ม1

ย้ายช้างป่าพลายสามพราน กับหมอกรมอุทยาน

ย้ายช้างป่าพลายสามพราน กับหมอกรมอุทยาน

โลกรื่นรมย์ กับหมอกรมอุทยานฯ ตอน ย้ายช้างป่า(พลายสามพราน)ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่ผ่านมา ทีมงานสัตวแพทย์กรม อุทยานฯ ทั้งชายหญิง และ ไม่แน่ใจ มีงานใหญ่ ระดมสรรพกำลังกันไปทำงานช้างกัน ไม่ใช่งานช้างสุรินทร์นะคะ แต่เป็นงานย้ายช้าง งานนี้ไปกันทั้งกรมฯ (เฉพาะหมอๆค่ะ ไม่ใช่ข้าราชการกรมทั้งหมด ) สาเหตุที่ต้องทำการย้ายในครั้งนี้ ไม่ใช่โยกย้ายตามฤดูกาลนะคะ แต่ มาจากได้รับจดหมายร้องเรียนจากชาวบ้าน บริเวณ อ.คลองตะเคียน ซึ่งเป็นบริเวณที่น้องพลายสามพรานลงไปหาของกินแล้วก็อาศัยอยู่ซึ่ง เป็นพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน ทำให้พืชผลที่ปลูกไว้เพื่อจำหน่ายได้รับความเสียหาย ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน บริเวณที่พลายสามพรานอาศัยอยู่เป็นบริเวณที่อยู่ห่างจากแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนเป็น ระยะทาง 2.5 กม.. วัตถุประสงค์ในการย้ายครั้งนี้จึงมีเป้าหมายเพื่อไม่ต้องการให้มีการทำลายพืชไร่พืชสวนของชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง พืชที่พบในบริเวณนั้น เช่น มันสำปะหลัง มะละกอ ต้นยางพาราฯลฯ เพราะถ้าช้างทำลายพืชผลมากๆ ชาวบ้านก็อาจทำร้ายช้างได้ หรือช้างก็อาจทำร้ายชาวบ้านได้ เป็นเรื่อง Human Animal Conflict ค่ะ เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการสัตว์ป่า จำกันได้นะคะ ว่าการจัดากรสัตว์ป่า มีมากกว่าการรณรงค์อนุรักษ์ พูดถึงสาเหตุที่ต้องย้ายน้องพลายสามพรายมาพอสมควรแล้ว มาฟังประวัติของน้องสามพรานกันบ้างดีกว่าค่ะ ช้างป่า“ตัว”นี้มีชื่อว่า “พลายสามพราน”เพราะพบและทำการรักษาครั้งแรกที่ ต.สามพราน(ก็นอกเขตรักษาพันธุ์ฯ เหมือนกัน แต่อยู่ทางทิศใต้ของที่อยู่ปัจจุบันไป 5 กิโลเมตร) แต่ว่าเป็นที่เรียกติดปากชาวบ้านกันว่า “เจ้าเป๋” หรือ “ไอ้เป๋” ที่ได้ชื่อนี้มาน่ะเหรอคะ.. เพราะว่าน้องช้างขาเจ็บเนื่องจากถูกแร้วดักสัตว์รัดที่ขาหน้าด้านขวา ทำให้เกิดบาดแผลขนาดใหญ่ทีเดียว แผลนี้เกิดตั้งแต่ เดือน ก.ค.ปี 2549 แล้วล่ะค่ะ โดยพี่หมอล็อตของเราได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าพบรอยเลือดและหนอง จึงตาม(กลิ่น ^_^ ) ไปจนเจอตัวพลายสามพรานและได้ทำการรักษา และเวลาผ่านมาก็พบว่าน้องช้างของเรามีแผลที่ดีขึ้นแต่ หลังจากนั้นก็ได้รับแจ้งอีกว่าพลายสามพรานได้ลงมาหากินอยู่บริเวณที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทั้งนี้เพราะช้างป่าที่เจ็บ จะไม่อยากเดินมาก และอยากอยู่ใกล้ๆที่ที่อาหารสมบูรณ์ แม้จะเสี่ยงมากกว่าเดิม เหมือนเสือเจ็บกระมังคะ ที่หากินใกล้คน เพราะหากินง่ายกว่า แต่เสี่ยงมากกว่า จึงมีการจัดให้มีการติดตามเฝ้าดูน้องสามพรานของเราอย่างใกล้ชิด และนั่นเองทำให้พบว่าแผลที่เคยดีขึ้นของน้องช้างกลับดูไม่ค่อยดีเท่าที่ควรเลยเป็นเหตุให้พี่หมอล็อตของเราต้องออกโรงอีกครั้ง และครั้งนี้ไม่ใช่แค่รักษาอาการบาดเจ็บอย่างเดียวแต่ต้องทำการย้ายน้องช้างด้วย เพราะนอกจะทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนแล้ว พื้นที่บริเวณที่น้องสามพรานอาศัยอยู่ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมนั้นมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างหนัก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพของน้องช้างเองโดยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอาจจะมีผลข้างเคียงทำให้ บาดแผลของน้องช้างเกิดการสร้างเนื้อตายบริเวณบาดแผลมากกว่าปกติ(overgrowth granulation tissue) ดังนั้นเราจึงต้องทำการวางแผนเพื่อที่จะย้ายน้องสามพรานให้ออกจากบริเวณพื้นที่เกษตรกรรม มายังบริเวณหลังที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน โดยแผนการของเราในครั้งนี้ การใช้ วิธีทางวิทยาศาสตร์ร่วมกับวิธีทางวัฒนธรรม วิธีการทางวิทยาศาสตร์ของเราคือการ การใช้การยิงยาซึมเพื่อให้น้องพลายสามพรานของเราควบคุมได้ง่ายขึ้น Combination ที่เราใช้ในครั้งนี้คือ Xylazine+Acepromazine ค่ะ Xylazine นั้นเป็น sedative ทำให้ซึม ส่วน Acepromazine จะทำให้ซึม พร้อมกับช่วยสงบประสาทหรือ tranquilizer ลดความตื่นเต้น แต่มีข้อควรระวังคือในเรื่อง Blood pressure ค่ะ มีหรือคะน้องช้างของเราจะยอมง่ายๆก็ต้องมีขัดขืนกันบ้าง อีกทั้งขบวนฝูงชนทั้งชาวบ้านร้านตลาด พ่อค้าแม่ค้าทั้งไอติม ลูกชิ้นปิ้ง ปลาหมึกย่าง โดยเฉพาะกองทัพนักข่าวที่ตามถ่ายภาพชนิดแทบจะเดินแซงหมอเข้าไปหาน้องช้างของเรา นั่นเป็นสาเหตุให้ยาออกฤทธิ์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร ตามหลักการที่หากสัตว์ตื่นเต้น Xylazine จะไม่ค่อยออกฤทธิ์เต็มที่ แต่จากนั้นเมื่อเริ่มซึมแล้วเป็นขั้นตอนของพิธีกรรมคล้องช้าง ที่ทำโดยหมอช้างจากสุรินทร์ หมอช้างในที่นี้หมายถึงหมอควาญนะคะ เป็นพิธีโบราณซึ่งปัจจุบันพบเห็นค่อนข้างน้อย โดยการที่หมอช้างจะเข้าไปคล้องน้องสามพรานแล้วก็มีพี่ๆช้าง (ช้างบ้านที่นำมาจากสุรินทร์) มาเป็นเหมือนพี่เลี้ยงเดินขนาบ ทั้งด้านหัวและด้านท้ายเพื่อพาน้อง สามพรานออกมาจากป่าและขึ้นรถเพื่อขนย้าย ระหว่างที่น้องสามพรานอยู่บนรถสิบล้อ มีเหตุการณ์น่าตื่นเต้นเกิดขึ้นคือ น้องสามพรานของเราล้มลงนอนในท่า sternal recumbency ซึ่งเป็นท่าอันตรายสำหรับช้าง (แต่เป็นท่ามาตรฐาน ที่แนะนำสำหรับ ruminant ทั่วไป) ทำให้พี่หมอล็อตต้องให้ Antidote ที่ผ่านการคำนวณโดสโดยหมอกิ้ง มิสเตอร์โย(ฮิมบิน)ของเรานั้นเอง(ได้รับมอบหมายให้พก โยฮิมบิน พร้อมเข็ม เผื่อกรณีฉุกเฉินไว้ตลอดเวลา) เพื่อให้น้องช้างลุกขึ้นยืน สาเหตุที่น้องสามพรานล้มลงนอนเกิดจากการที่ยาสลบที่ใช้ออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ในช่วงแรก แต่เมื่อขึ้นรถแล้วน้องสามพรานสงบลงทำให้ยาออกฤทธิ์เต็มที่(ดีเกินไป) เลยทำให้หัวใจพี่หมอล็อตของเราทำงานหนักไปด้วย (^_^) หากให้ Xylazine คู่กับ Acepromazine แม้ผลของ Xylazine จะหมดไป แต่ฤทธิ์ของ Acepromazine ยังอยู่ และช่วยสงบประสาทได้อย่างดีด้วย สุดท้าย ทุกอย่างอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้และประสบความสำเร็จโดยราบรื่นค่ะ หลังจากย้ายน้องสามพรานมาถึงหลังที่ทำการแล้วเราก็เฝ้าสังเกตอาการเมื่อเห็นว่าดีแล้วจึงขนกล้วยและอ้อยมาให้น้องกินเป็นการใหญ่ ไม่ต้องกลัวอาเจียนนะคะ ช้างไม่อาเจียนค่ะ จากนั้นพวกเราก็ไปเตรียมการรักษาในวันรุ่งขึ้น วันรุ่งขึ้นอีกวันเราทำการวางยาซึมน้องช้างอีกครั้งเพื่อให้ สารน้ำ ยาปฏิชีวนะ ถ่ายพยาธิ วิตามินต่างๆเพื่อบำรุงร่างกาย และให้ธาตุเหล็กด้วย ลืมบอกไปค่ะ น้องสามพรานของเราได้รับการตรวจเลือดแล้วก่อนที่จะวางยาเพื่อขนย้ายครั้งนี้ด้วยค่ะ ผลเลือดที่ออกมาชี้ให้เห็นว่าน้องช้างของเรามีภาวะโลหิตจาง จึงจำเป็นต้องให้ธาตุเหล็ก และเราได้เก็บตัวอย่างเลือดและชิ้นเนื้อบริเวณบาดแผลเพื่อตรวจสุขภาพของน้องสามพรานอีกครั้งด้วยค่ะ อ๋อ!! แล้วเราก็ยังเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อทำ gene bank โดย หมอเอ๋ ณ..ห้วยขาแข้ง และ หมอ เอ็ม ณ.บางละมุง ทำการให้ยาปฎิชีวนะ+ยาบำรุงร่างกาย ผ่านทางเส้นเลือดและกล้ามเนื้อ หมอไวกิ้ง ณ.ส่วนคุมครองฯ ทำการให้สารน้ำ+ยาบำรุง ผ่านทางเส้นเลือดใบหู ส่วน หมอฟ้า ณ.แม่ลาว หมอเฟิร์น หมอน็อต ณ.ส่วนคุ้มครองคอย เตรียมยา, เป็นเด็กวิ่งส่งยา และ ให้กำลังใจอยู่ห่างๆ (คนเยอะเดี๋ยวช้างตื่น) จากนั้นทำแผลโดยล้างและใส่ยาที่บริเวณขาหน้า หลังจากทำทุกอย่างเรียบร้อยดีแล้วเราก็ให้ antidote เพื่อให้น้องหายง่วงซึมและให้น้องกลับเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่น้องควรอยู่จริงๆตามธรรมชาติ เรามีทีมติดตามและเฝ้าดูน้องสามพรานของเราต่อไปค่ะถ้ามีข่าวคราวความคืบหน้ายังไงล่ะก็จะรีบรายงานให้ทราบในทันทีเลยจ้า ทีมงานหมอกรมรุ่นใหม่ วัยรุ่น(ยกให้พี่ล็อตเป็นรุ่นป๋า ค่ะ) ก็ได้เรียนรู้ ระบบ กระบวนการ การวางแผนย้ายช้าง เพราะอนาคตคงจะต้องมีเรื่องเช่นนี้อีกหลายที่ หากการจัดการสัตว์ป่าบ้านเรายังไม่มีทิศทางชัดเจน และไม่มีแผนการจัดการสัตว์ป่าอย่างทุกวันนี้ ทีมงานหมอกรมอุทยานฯ หมอล็อต , หมอไวกิ้ง, หมอน็อต, หมอฟ้า, หมอเฟิร์น, หมอเอ๋, หมอเอ็ม ,หมอเจี๊ยบ ขอขอบคุณสำหรับความร่วมมือจากทุกๆฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในครั้งนี้ค่ะ ขอบคุณ Editor ที่น่ารักของเรา ที่ช่วยดูแลแก้ไขและเพิ่มเติมบทความของเราให้สมบูรณ์ด้วยค่ะ ^_^ เนื้อหาบางส่วนอาจเป็นวิชาการไปนิด ทีมงานจดหมายข่าวขอมา ให้สอดแทรกเนื้อหาความรู้เข้ามาด้วยค่ะ เผื่อคนที่ยังไม่รู้จะได้ความรู้น่ะค่ะ โดย น้องหมี จิ๊ก ก๋อ ณ เคี่ยวหก