Wednesday, December 12, 2007

ประสพการณ์....การจัดการช้างป่าขาหัก

ประสพการณ์....การจัดการช้างป่าขาหัก

โดย น.สพ.พีรพร มณีอ่อน

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2545 ผมได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และนักท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ว่าพบช้างป่าได้รับบาดเจ็บ และเคลื่อนย้ายตัวด้วยการลากขาวิ่ง จึงเข้าไปตรวจสอบ พบว่า ช้างที่บาดเจ็บเป็นช้างป่า เพศผู้ อายุประมาณ 8-10 ปี (Sub-adult) มีเลขประจำตัวคือ F 8/5 ช้างตัวนี้เป็นช้างอยู่ในครอบครัวที่ 8 (F8) มีประวัติอยู่ในการศึกษาสำรวจช้างป่าในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พบครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2544 มีสมาชิกในโขลงโดยปกติ จำนวน 11 ตัว ลักษณะจำแนกคือ มีงายาวจากริมฝีปากประมาณ 10 –12 นิ้ว มีตำหนิที่หูข้างซ้ายมีรูตรงกลางใบหู เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1-2 นิ้ว เมื่อติดตามไปดูพบช้างจำนวน 3 เชือก อยู่ในกลุ่มเดียวกับช้างที่บาดเจ็บ ช้างตัวที่บาดเจ๊บแสดงอาการบาดเจ็บบริเวณขาหลังด้านซ้าย โดยเห็นอาการบวมตั้งแต่บริเวณ femur – patella เมื่อเคลื่อนไปได้ประมาณ 20 m และหยุดพักประมาณ 3-5 นาที นอกจากนี้ยังพบเห็นรอยขาลากเป็นทางยาวประมาณ 2-3 km ช้างมีพฤติกรรมหวาดระแวงและพยายามเข้าทำร้ายกลุ่มเจ้าหน้าที่ผู้ติดตาม ผม และคณะจึงได้ทำการถ่าย VDO และบันทึกภาพไว้ เมื่อนำข้อมูลมาวินิจฉัยได้ข้อสรุปเบื้องต้นดังนี้ ช้างป่า F8/5 น่าจะเกิด fracture บริเวณ femur region ใกล้กับ Patella bone ส่วนของ knee joint ทำให้เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อ เอ็น และเส้นประสาทบริเวณนั้น จึงแสดงอาการเจ็บปวด เดินขาลาก และไม่สามารถใช้ขาหลังซ้ายได้ โอกาสรอด 30% ตาย 70% หลังจากให้เจ้าหน้าที่ลาดตระเวณป่าไม้คอยติดตามอยู่ห่าง ๆ พบว่า ช้างป่า F8/5 ก็ยังคงอาศัยอยู่เดี่ยว ๆ เดินตามโขลงไม่ทัน หวาดระแวง จึงเกรงว่าถ้าปล่อยไว้ต่อไป กระดูกที่หักอาจแทงทะลุกล้ามเนื้อเป็นแผลเปิดได้ และเล็บเท้าหลังซ้ายที่เดินลากมาเป็นระยะเวลานานนั้นจะเกิดเป็นแผลเปิด ทำให้มีโอกาสที่จะเกิด Septicemia ถ้าไม่ช่วยเหลืออาจจะเสียชีวิตได้ ในขั้นต้นรักษาโดยให้ยาปฏิชีวนะ แคลเซียม และวิตามิน ยัดใส่ในกล้วย ให้กินอยู่ประมาณ 5 วัน อาการเริ่มดีขึ้น การเคลื่อนไหวดีขึ้น ตอนแรกผมวางแผนไว้ว่าจะ Dart ยาสลบ แล้วควบคุมโดยการกักบริเวณไว้ในรั้วไฟฟ้า เพื่อที่จะได้สะดวกในการติดตามผล และตรวจรักษา แต่หลังจากยัดยาไว้ในกล้วย 5 วันแล้วอาการดีขึ้น ซึ่งสังเกตได้จากรอยขุดของเล็บขาหลังซ้ายข้างที่หักที่ลดลง จากในช่วงแรกก่อนให้ยาวัดรอยขาลากได้ยาวประมาณ 2 เมตร หลังจากติดตามรอยขาลากไปเรื่อย ๆ พบว่า รอยขาลากเริ่มสั้นลงเรื่อย ๆ และเห็นร่องรอยการกินอาหารตลอดเส้นทางที่เดินอยู่ในป่า แสดงให้เห็นว่าสุขภาพเริ่มดีขึ้น ถึงแม้ว่าจะล้มเลิกความคิดที่จะยิงยาสลบแล้วกักบริเวณช้างไป แต่พวกเราก็ยังไม่ลดความพยายามที่จะ Monitoring ร่วมกับการให้ยาใส่ในกล้วย บางครั้งธรรมชาติก็ไมสามารถอธิบายได้ ถึงแม้ว่าผมจะเป็นหมอเล่าเรียนมาทางวิทยาศาสตร์ แต่ของบางอย่างไม่เชื่อก็อย่าลบหลู่ ก่อนเข้าป่าในแต่ละครั้งคณะทำงานของเราจะทำพิธีเบิกป่าเบิกไพร เซ่นไหว้เจ้าพ่อเขาใหญ่ เจ้าปู่เขาเขียว เจ้าพ่อเขาเขียว ถึงแม้การกระทำดังกล่าวจะเป็นเรื่องที่พิสูจน์ไม่ได้ แต่ตลอดระยะเวลาหลายเดือนที่ได้เข้าไปติดตามช้างในป่าไม่มีเหตุการณ์ใด ๆ ที่เป็นอุปสรรคร้ายแรงในการทำงานเลย ตัวผมเองนั้นได้ออกติดตามช้างป่าเชือกนี้มานาน โดนนักวิชาการหลาย ๆ ท่านที่ไม่ใช่นายสัตวแพทย์ลงข่าวหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับ การปฏิบัติการช่วยเหลือช้างป่าครั้งนี้ว่า สัตวแพทย์ไม่เคยช่วยเหลือช้างป่าแล้วรอดตายได้สักที บางท่านก็บอกว่ากับแค่ช้างป่าเชือกเดียว ปล่อยให้ตายไปก็ไม่เห็นเป็นไร บางท่านก็บอกว่า สัตวแพทย์ไทยไม่มีความสามารถ และเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จะช่วยเหลือช้างป่าได้เลย ด้วยความเป็นหมอที่เพิ่งทำงานได้ไม่ถึงปี ก็รู้สึกสับสน แต่ในใจก็คิดว่าถึงเวลานี้แล้ว เราเป็นหมอ ถ้าเราไม่ทำแล้วใครจะทำ และต้องขอขอบคุณคำวิจารณ์ต่าง ๆ จากนักวิชาการทุกท่าน รวมทั้งหนังสือพิมพ์ ที่ช่วยเป็นตัวจุดประกายแรงผลักดันให้เกิดความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือช้างป่าเชือกนี้ให้ถึงที่สุด ท่านหม่อมเจ้ารังสีนพดล ยุคล พอได้ทราบข่าว ท่านทรงเป็นห่วงช้างป่าเชือกนี้เป็นอย่างยิ่ง (ปกติท่านก็รักช้างมาตลอด) พอทราบข่าวว่าลูกท่าน (F8/5) บาดเจ็บ ทรงเสด็จมาที่เขาใหญ่ร่วมกันติดตามช้างป่าตัวนี้ตลอดทั้งวันทั้งคืนด้วยความเป็นห่วง ถึงแม้ว่าสุขภาพของท่านหญิงจะไม่แข็งแรงก็ตาม และท่านหญิงก็ได้เป็นขวัญและกำลังใจให้กระผมและเจ้าหน้าที่ทุกคนในการติดตามการรักษาช้างตัวนี้ ในขณะที่ติดตามอยู่ป่า บางครั้งก็มีคำถามกับตัวเองอยู่เสมอว่าทำไมต้องเสี่ยงชีวิตถึงขนาดนี้ ต้องเดินในป่าเขาใหญ่เป็นเวลาหลายเดือน บางครั้งเดินตามรอยไปหลงในดงกระทิง ฝ่าดงงูเห่า ข้ามดงเสือผ่าน เดินมาทั่วเลย และเป็นเรื่องที่ยากมากกับการเดินตามหาช้างป่าตัวเดียวในป่าพื้นที่ 2500 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ในช่วงหน้าฝนมีทั้งทาก โคลน แมลง สัตว์ป่าอันตรายต่าง ๆ มากมาย เจ้าหน้าที่ที่ติดตามไปด้วยจะมีปืนลูกซอง M-16 ปืนพก แต่ผมมีแค่ปืนยิงยาสลบเก่า ๆ แต่ประสิทธิภาพสุดยอด ผมเองก็น้อยใจ ไม่มีอาวุธติดตัวเลย เจ้าหน้าที่เลยให้มีดมา 1 ด้าม เราเองก็ดีใจที่เค้าเป็นห่วงเรา แต่พอนึกอีกที มีดด้ามเดียวจะไปสู้กับช้าง หมี หรือเสือได้อย่างไร ก็เลยค้อนใส่เจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่พอได้ฟังเราค้อนปุ๊บก็หันมาบอกว่า “หมอ lot เข้าใจอะไรผิดหรือเปล่า ไอ้มีดที่ให้ไปน่ะ ไม่ได้ให้เอาไปสู้กับเสือหรือหมีหรอก เอาไว้ให้หมอ lot แทงอกตัวเองต่างหาก เวลาเจอเสือหรือหมีเข้าทำร้าย หมอ lot จะได้ไม่ตายเพราะถูกเสือหรือหมีฆ่า” มันน่าขอบคุณไหมล่ะ ก็เป็นอีกบรรยากาศหนึ่งในการทำงาน เจ้าหน้าที่ป่าไม้ทุกคนค่อนข้างเก่ง และเป็นกันเอง หน้าที่ของพวกเขาก็คือพาหมอไปหาช้าง และคอยคุ้มครองป้องกันหมอ (แต่พอถึงเวลาอันตรายจริง ๆ ก็วิ่งกันป่าราบทุกที) ช่วงเวลาที่อยู่ในป่า พวกเราค่อนข้างรักกันมาก และได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่าง ๆ ซึ่งกันและกัน และสิ่งสำคัญที่ผมได้จากพวกเจ้าหน้าที่ คือการใช้เครื่อง GPS การดูแผนที่ และการใช้เข็มทิศ ต่อให้เดินป่าที่ไหนทั่วโลก ถ้ามี 3 สิ่งนี้ ยังไงก็ไม่หลง ช่วงต้นเดือนตุลาคม เป็นช่วงหน้าฝน ฝนในเขาใหญ่ตกหนักมาก แต่เราก็ไม่ละความพยายามที่จะติดตาม ตากฝนเป็นวัน ๆ ทากก็เยอะมากในช่วงหน้าฝน ช่วงแรก ๆ ไม่ชอบทากเลย แต่พอหลัง ๆ เริ่มชินและสนุก ดูดได้ดูดไป เอาเลือดชั่วออกไปบ้างก็ดี (แต่กว่าจะเอาเลือดชั่วออกหมด สงสัยเกิด Hypovolumic shock พอดี) พอถึงต้นเดือนพฤศจิกายน ฝนตกหนัก ทำให้เราไม่สามารถติดตามหาร่องรอยลากขาของช้างที่บาดเจ็บได้ พยายามหาร่องรอยการเดิน และการกินอาหารก็ไม่เจอ จึงได้ระดมเจ้าหน้าที่ลาดตระเวณป่าไม้พลิกผืนป่าทั้งหมดเพื่อตามหา แต่ก็ไม่พบร่องรอย ในใจก็ได้แต่ภาวนาขอให้มีชีวิตอยู่เถอะ please ทุก ๆ คืนจะขับรถถนนเส้นเขาใหญ่ – ปราจีนบุรี เพียงเพื่อหวังว่าจะพบช้างป่าออกมาบนถนน แต่ก็ไร้วี่แวว เอาไงดีวะกู จะเป็น GOD หรือ DOG วะ และแล้ว เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ก่อนถึงวันปีใหม่ ปรากฏว่าโขลง F8 ออกมาเดินบนถนน พร้อมกันนั้นก็ได้นับจำนวนสมาชิกในโขลง Oh! My god สมาชิกทั้งหมดนับได้ 12 ตัว F8/5 เดินตามโขลงออกมาถนน โอ้ละพ่อ เค้ายังมีชีวิตอยู่ สังเกตการเคลื่อนไหว พบว่าเขาสามารถเคลื่อนไหวโดยลงน้ำหนักขาหลังซ้ายได้เกือบปกติ สุขภาพดี เดินออกมากินดินโป่งอย่างมีความสุข ทำให้พวกเราทีมงานทั้งอุทยานและนักท่องเที่ยวมีความปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง เลยคิดสรุปเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้ว่า เราคิดถูกแล้วที่ยังไม่ยิงยาสลบในตอนนั้น Monitoring ไปเรื่อย ๆ หรือว่าพฤติกรรมช้างป่าในช่วงที่เราติดตามหาร่องรอยไม่พบ เค้าน่าจะมีที่แห่งใดแห่งหนึ่งในป่าเป็นเหมือนที่หลบซ่อนรักษาพยาบาลตัวเอง ร่วมกับอาศัย Natural Healing Monitoring เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลรักษาสัตว์ป่าในป่า เพื่อที่จะได้เป็นการประเมินสภาพของสัตว์ได้ โดยที่เราไม่จำเป็นที่จะนำเอามา Admit ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาด้านการจัดการต่าง ๆ ตามมาอีกมากมาย จากประสบการณ์ในครั้งนี้ ได้แนวทางในการรักษาสัตว์ป่าป่วยในป่า ว่าให้เน้นธรรมชาติบำบัด ร่วมกับการให้ยาในอาหาร หรือ dart ยาระยะไกล และไม่จำเป็นที่จะต้องนำสัตว์มา Admit treatment และ supportive แค่ช่วงเดียว แล้ว Monitoring สัญชาตญานการเอาตัวรอดของช้างป่า จะช่วยให้มันอยู่รอดเอง แต่ก็ไม่ควรจะละเลยที่จะเข้าไปช่วยเหลือเลย และที่สำคัญที่สุดคือ Monitoring เพื่อเป็นการประเมินสภาพสัตว์ป่วย ขอขอบคุณ - หม่อมเจ้ารังสีนพดล ยุคล - อุทยานแห่งชาติ เขาใหญ่ - โครงการอนุรักษ์เขาใหญ่ - ชมรมสัตวแพทย์สวนสัตว์และสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย - อีกหลายท่านที่มิได้เอ่ยนาม

By: หมอล๊อต...ปลายงาเคี่ยวเข้ม1

ย้ายช้างป่าพลายสามพราน กับหมอกรมอุทยาน

ย้ายช้างป่าพลายสามพราน กับหมอกรมอุทยาน

โลกรื่นรมย์ กับหมอกรมอุทยานฯ ตอน ย้ายช้างป่า(พลายสามพราน)ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่ผ่านมา ทีมงานสัตวแพทย์กรม อุทยานฯ ทั้งชายหญิง และ ไม่แน่ใจ มีงานใหญ่ ระดมสรรพกำลังกันไปทำงานช้างกัน ไม่ใช่งานช้างสุรินทร์นะคะ แต่เป็นงานย้ายช้าง งานนี้ไปกันทั้งกรมฯ (เฉพาะหมอๆค่ะ ไม่ใช่ข้าราชการกรมทั้งหมด ) สาเหตุที่ต้องทำการย้ายในครั้งนี้ ไม่ใช่โยกย้ายตามฤดูกาลนะคะ แต่ มาจากได้รับจดหมายร้องเรียนจากชาวบ้าน บริเวณ อ.คลองตะเคียน ซึ่งเป็นบริเวณที่น้องพลายสามพรานลงไปหาของกินแล้วก็อาศัยอยู่ซึ่ง เป็นพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน ทำให้พืชผลที่ปลูกไว้เพื่อจำหน่ายได้รับความเสียหาย ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน บริเวณที่พลายสามพรานอาศัยอยู่เป็นบริเวณที่อยู่ห่างจากแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนเป็น ระยะทาง 2.5 กม.. วัตถุประสงค์ในการย้ายครั้งนี้จึงมีเป้าหมายเพื่อไม่ต้องการให้มีการทำลายพืชไร่พืชสวนของชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง พืชที่พบในบริเวณนั้น เช่น มันสำปะหลัง มะละกอ ต้นยางพาราฯลฯ เพราะถ้าช้างทำลายพืชผลมากๆ ชาวบ้านก็อาจทำร้ายช้างได้ หรือช้างก็อาจทำร้ายชาวบ้านได้ เป็นเรื่อง Human Animal Conflict ค่ะ เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการสัตว์ป่า จำกันได้นะคะ ว่าการจัดากรสัตว์ป่า มีมากกว่าการรณรงค์อนุรักษ์ พูดถึงสาเหตุที่ต้องย้ายน้องพลายสามพรายมาพอสมควรแล้ว มาฟังประวัติของน้องสามพรานกันบ้างดีกว่าค่ะ ช้างป่า“ตัว”นี้มีชื่อว่า “พลายสามพราน”เพราะพบและทำการรักษาครั้งแรกที่ ต.สามพราน(ก็นอกเขตรักษาพันธุ์ฯ เหมือนกัน แต่อยู่ทางทิศใต้ของที่อยู่ปัจจุบันไป 5 กิโลเมตร) แต่ว่าเป็นที่เรียกติดปากชาวบ้านกันว่า “เจ้าเป๋” หรือ “ไอ้เป๋” ที่ได้ชื่อนี้มาน่ะเหรอคะ.. เพราะว่าน้องช้างขาเจ็บเนื่องจากถูกแร้วดักสัตว์รัดที่ขาหน้าด้านขวา ทำให้เกิดบาดแผลขนาดใหญ่ทีเดียว แผลนี้เกิดตั้งแต่ เดือน ก.ค.ปี 2549 แล้วล่ะค่ะ โดยพี่หมอล็อตของเราได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าพบรอยเลือดและหนอง จึงตาม(กลิ่น ^_^ ) ไปจนเจอตัวพลายสามพรานและได้ทำการรักษา และเวลาผ่านมาก็พบว่าน้องช้างของเรามีแผลที่ดีขึ้นแต่ หลังจากนั้นก็ได้รับแจ้งอีกว่าพลายสามพรานได้ลงมาหากินอยู่บริเวณที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทั้งนี้เพราะช้างป่าที่เจ็บ จะไม่อยากเดินมาก และอยากอยู่ใกล้ๆที่ที่อาหารสมบูรณ์ แม้จะเสี่ยงมากกว่าเดิม เหมือนเสือเจ็บกระมังคะ ที่หากินใกล้คน เพราะหากินง่ายกว่า แต่เสี่ยงมากกว่า จึงมีการจัดให้มีการติดตามเฝ้าดูน้องสามพรานของเราอย่างใกล้ชิด และนั่นเองทำให้พบว่าแผลที่เคยดีขึ้นของน้องช้างกลับดูไม่ค่อยดีเท่าที่ควรเลยเป็นเหตุให้พี่หมอล็อตของเราต้องออกโรงอีกครั้ง และครั้งนี้ไม่ใช่แค่รักษาอาการบาดเจ็บอย่างเดียวแต่ต้องทำการย้ายน้องช้างด้วย เพราะนอกจะทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนแล้ว พื้นที่บริเวณที่น้องสามพรานอาศัยอยู่ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมนั้นมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างหนัก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพของน้องช้างเองโดยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอาจจะมีผลข้างเคียงทำให้ บาดแผลของน้องช้างเกิดการสร้างเนื้อตายบริเวณบาดแผลมากกว่าปกติ(overgrowth granulation tissue) ดังนั้นเราจึงต้องทำการวางแผนเพื่อที่จะย้ายน้องสามพรานให้ออกจากบริเวณพื้นที่เกษตรกรรม มายังบริเวณหลังที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน โดยแผนการของเราในครั้งนี้ การใช้ วิธีทางวิทยาศาสตร์ร่วมกับวิธีทางวัฒนธรรม วิธีการทางวิทยาศาสตร์ของเราคือการ การใช้การยิงยาซึมเพื่อให้น้องพลายสามพรานของเราควบคุมได้ง่ายขึ้น Combination ที่เราใช้ในครั้งนี้คือ Xylazine+Acepromazine ค่ะ Xylazine นั้นเป็น sedative ทำให้ซึม ส่วน Acepromazine จะทำให้ซึม พร้อมกับช่วยสงบประสาทหรือ tranquilizer ลดความตื่นเต้น แต่มีข้อควรระวังคือในเรื่อง Blood pressure ค่ะ มีหรือคะน้องช้างของเราจะยอมง่ายๆก็ต้องมีขัดขืนกันบ้าง อีกทั้งขบวนฝูงชนทั้งชาวบ้านร้านตลาด พ่อค้าแม่ค้าทั้งไอติม ลูกชิ้นปิ้ง ปลาหมึกย่าง โดยเฉพาะกองทัพนักข่าวที่ตามถ่ายภาพชนิดแทบจะเดินแซงหมอเข้าไปหาน้องช้างของเรา นั่นเป็นสาเหตุให้ยาออกฤทธิ์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร ตามหลักการที่หากสัตว์ตื่นเต้น Xylazine จะไม่ค่อยออกฤทธิ์เต็มที่ แต่จากนั้นเมื่อเริ่มซึมแล้วเป็นขั้นตอนของพิธีกรรมคล้องช้าง ที่ทำโดยหมอช้างจากสุรินทร์ หมอช้างในที่นี้หมายถึงหมอควาญนะคะ เป็นพิธีโบราณซึ่งปัจจุบันพบเห็นค่อนข้างน้อย โดยการที่หมอช้างจะเข้าไปคล้องน้องสามพรานแล้วก็มีพี่ๆช้าง (ช้างบ้านที่นำมาจากสุรินทร์) มาเป็นเหมือนพี่เลี้ยงเดินขนาบ ทั้งด้านหัวและด้านท้ายเพื่อพาน้อง สามพรานออกมาจากป่าและขึ้นรถเพื่อขนย้าย ระหว่างที่น้องสามพรานอยู่บนรถสิบล้อ มีเหตุการณ์น่าตื่นเต้นเกิดขึ้นคือ น้องสามพรานของเราล้มลงนอนในท่า sternal recumbency ซึ่งเป็นท่าอันตรายสำหรับช้าง (แต่เป็นท่ามาตรฐาน ที่แนะนำสำหรับ ruminant ทั่วไป) ทำให้พี่หมอล็อตต้องให้ Antidote ที่ผ่านการคำนวณโดสโดยหมอกิ้ง มิสเตอร์โย(ฮิมบิน)ของเรานั้นเอง(ได้รับมอบหมายให้พก โยฮิมบิน พร้อมเข็ม เผื่อกรณีฉุกเฉินไว้ตลอดเวลา) เพื่อให้น้องช้างลุกขึ้นยืน สาเหตุที่น้องสามพรานล้มลงนอนเกิดจากการที่ยาสลบที่ใช้ออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ในช่วงแรก แต่เมื่อขึ้นรถแล้วน้องสามพรานสงบลงทำให้ยาออกฤทธิ์เต็มที่(ดีเกินไป) เลยทำให้หัวใจพี่หมอล็อตของเราทำงานหนักไปด้วย (^_^) หากให้ Xylazine คู่กับ Acepromazine แม้ผลของ Xylazine จะหมดไป แต่ฤทธิ์ของ Acepromazine ยังอยู่ และช่วยสงบประสาทได้อย่างดีด้วย สุดท้าย ทุกอย่างอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้และประสบความสำเร็จโดยราบรื่นค่ะ หลังจากย้ายน้องสามพรานมาถึงหลังที่ทำการแล้วเราก็เฝ้าสังเกตอาการเมื่อเห็นว่าดีแล้วจึงขนกล้วยและอ้อยมาให้น้องกินเป็นการใหญ่ ไม่ต้องกลัวอาเจียนนะคะ ช้างไม่อาเจียนค่ะ จากนั้นพวกเราก็ไปเตรียมการรักษาในวันรุ่งขึ้น วันรุ่งขึ้นอีกวันเราทำการวางยาซึมน้องช้างอีกครั้งเพื่อให้ สารน้ำ ยาปฏิชีวนะ ถ่ายพยาธิ วิตามินต่างๆเพื่อบำรุงร่างกาย และให้ธาตุเหล็กด้วย ลืมบอกไปค่ะ น้องสามพรานของเราได้รับการตรวจเลือดแล้วก่อนที่จะวางยาเพื่อขนย้ายครั้งนี้ด้วยค่ะ ผลเลือดที่ออกมาชี้ให้เห็นว่าน้องช้างของเรามีภาวะโลหิตจาง จึงจำเป็นต้องให้ธาตุเหล็ก และเราได้เก็บตัวอย่างเลือดและชิ้นเนื้อบริเวณบาดแผลเพื่อตรวจสุขภาพของน้องสามพรานอีกครั้งด้วยค่ะ อ๋อ!! แล้วเราก็ยังเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อทำ gene bank โดย หมอเอ๋ ณ..ห้วยขาแข้ง และ หมอ เอ็ม ณ.บางละมุง ทำการให้ยาปฎิชีวนะ+ยาบำรุงร่างกาย ผ่านทางเส้นเลือดและกล้ามเนื้อ หมอไวกิ้ง ณ.ส่วนคุมครองฯ ทำการให้สารน้ำ+ยาบำรุง ผ่านทางเส้นเลือดใบหู ส่วน หมอฟ้า ณ.แม่ลาว หมอเฟิร์น หมอน็อต ณ.ส่วนคุ้มครองคอย เตรียมยา, เป็นเด็กวิ่งส่งยา และ ให้กำลังใจอยู่ห่างๆ (คนเยอะเดี๋ยวช้างตื่น) จากนั้นทำแผลโดยล้างและใส่ยาที่บริเวณขาหน้า หลังจากทำทุกอย่างเรียบร้อยดีแล้วเราก็ให้ antidote เพื่อให้น้องหายง่วงซึมและให้น้องกลับเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่น้องควรอยู่จริงๆตามธรรมชาติ เรามีทีมติดตามและเฝ้าดูน้องสามพรานของเราต่อไปค่ะถ้ามีข่าวคราวความคืบหน้ายังไงล่ะก็จะรีบรายงานให้ทราบในทันทีเลยจ้า ทีมงานหมอกรมรุ่นใหม่ วัยรุ่น(ยกให้พี่ล็อตเป็นรุ่นป๋า ค่ะ) ก็ได้เรียนรู้ ระบบ กระบวนการ การวางแผนย้ายช้าง เพราะอนาคตคงจะต้องมีเรื่องเช่นนี้อีกหลายที่ หากการจัดการสัตว์ป่าบ้านเรายังไม่มีทิศทางชัดเจน และไม่มีแผนการจัดการสัตว์ป่าอย่างทุกวันนี้ ทีมงานหมอกรมอุทยานฯ หมอล็อต , หมอไวกิ้ง, หมอน็อต, หมอฟ้า, หมอเฟิร์น, หมอเอ๋, หมอเอ็ม ,หมอเจี๊ยบ ขอขอบคุณสำหรับความร่วมมือจากทุกๆฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในครั้งนี้ค่ะ ขอบคุณ Editor ที่น่ารักของเรา ที่ช่วยดูแลแก้ไขและเพิ่มเติมบทความของเราให้สมบูรณ์ด้วยค่ะ ^_^ เนื้อหาบางส่วนอาจเป็นวิชาการไปนิด ทีมงานจดหมายข่าวขอมา ให้สอดแทรกเนื้อหาความรู้เข้ามาด้วยค่ะ เผื่อคนที่ยังไม่รู้จะได้ความรู้น่ะค่ะ โดย น้องหมี จิ๊ก ก๋อ ณ เคี่ยวหก