Wednesday, December 12, 2007

ย้ายช้างป่าพลายสามพราน กับหมอกรมอุทยาน

ย้ายช้างป่าพลายสามพราน กับหมอกรมอุทยาน

โลกรื่นรมย์ กับหมอกรมอุทยานฯ ตอน ย้ายช้างป่า(พลายสามพราน)ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่ผ่านมา ทีมงานสัตวแพทย์กรม อุทยานฯ ทั้งชายหญิง และ ไม่แน่ใจ มีงานใหญ่ ระดมสรรพกำลังกันไปทำงานช้างกัน ไม่ใช่งานช้างสุรินทร์นะคะ แต่เป็นงานย้ายช้าง งานนี้ไปกันทั้งกรมฯ (เฉพาะหมอๆค่ะ ไม่ใช่ข้าราชการกรมทั้งหมด ) สาเหตุที่ต้องทำการย้ายในครั้งนี้ ไม่ใช่โยกย้ายตามฤดูกาลนะคะ แต่ มาจากได้รับจดหมายร้องเรียนจากชาวบ้าน บริเวณ อ.คลองตะเคียน ซึ่งเป็นบริเวณที่น้องพลายสามพรานลงไปหาของกินแล้วก็อาศัยอยู่ซึ่ง เป็นพื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้าน ทำให้พืชผลที่ปลูกไว้เพื่อจำหน่ายได้รับความเสียหาย ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน บริเวณที่พลายสามพรานอาศัยอยู่เป็นบริเวณที่อยู่ห่างจากแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไนเป็น ระยะทาง 2.5 กม.. วัตถุประสงค์ในการย้ายครั้งนี้จึงมีเป้าหมายเพื่อไม่ต้องการให้มีการทำลายพืชไร่พืชสวนของชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง พืชที่พบในบริเวณนั้น เช่น มันสำปะหลัง มะละกอ ต้นยางพาราฯลฯ เพราะถ้าช้างทำลายพืชผลมากๆ ชาวบ้านก็อาจทำร้ายช้างได้ หรือช้างก็อาจทำร้ายชาวบ้านได้ เป็นเรื่อง Human Animal Conflict ค่ะ เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการสัตว์ป่า จำกันได้นะคะ ว่าการจัดากรสัตว์ป่า มีมากกว่าการรณรงค์อนุรักษ์ พูดถึงสาเหตุที่ต้องย้ายน้องพลายสามพรายมาพอสมควรแล้ว มาฟังประวัติของน้องสามพรานกันบ้างดีกว่าค่ะ ช้างป่า“ตัว”นี้มีชื่อว่า “พลายสามพราน”เพราะพบและทำการรักษาครั้งแรกที่ ต.สามพราน(ก็นอกเขตรักษาพันธุ์ฯ เหมือนกัน แต่อยู่ทางทิศใต้ของที่อยู่ปัจจุบันไป 5 กิโลเมตร) แต่ว่าเป็นที่เรียกติดปากชาวบ้านกันว่า “เจ้าเป๋” หรือ “ไอ้เป๋” ที่ได้ชื่อนี้มาน่ะเหรอคะ.. เพราะว่าน้องช้างขาเจ็บเนื่องจากถูกแร้วดักสัตว์รัดที่ขาหน้าด้านขวา ทำให้เกิดบาดแผลขนาดใหญ่ทีเดียว แผลนี้เกิดตั้งแต่ เดือน ก.ค.ปี 2549 แล้วล่ะค่ะ โดยพี่หมอล็อตของเราได้รับแจ้งจากชาวบ้านว่าพบรอยเลือดและหนอง จึงตาม(กลิ่น ^_^ ) ไปจนเจอตัวพลายสามพรานและได้ทำการรักษา และเวลาผ่านมาก็พบว่าน้องช้างของเรามีแผลที่ดีขึ้นแต่ หลังจากนั้นก็ได้รับแจ้งอีกว่าพลายสามพรานได้ลงมาหากินอยู่บริเวณที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ทั้งนี้เพราะช้างป่าที่เจ็บ จะไม่อยากเดินมาก และอยากอยู่ใกล้ๆที่ที่อาหารสมบูรณ์ แม้จะเสี่ยงมากกว่าเดิม เหมือนเสือเจ็บกระมังคะ ที่หากินใกล้คน เพราะหากินง่ายกว่า แต่เสี่ยงมากกว่า จึงมีการจัดให้มีการติดตามเฝ้าดูน้องสามพรานของเราอย่างใกล้ชิด และนั่นเองทำให้พบว่าแผลที่เคยดีขึ้นของน้องช้างกลับดูไม่ค่อยดีเท่าที่ควรเลยเป็นเหตุให้พี่หมอล็อตของเราต้องออกโรงอีกครั้ง และครั้งนี้ไม่ใช่แค่รักษาอาการบาดเจ็บอย่างเดียวแต่ต้องทำการย้ายน้องช้างด้วย เพราะนอกจะทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนแล้ว พื้นที่บริเวณที่น้องสามพรานอาศัยอยู่ซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมนั้นมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างหนัก ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพของน้องช้างเองโดยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอาจจะมีผลข้างเคียงทำให้ บาดแผลของน้องช้างเกิดการสร้างเนื้อตายบริเวณบาดแผลมากกว่าปกติ(overgrowth granulation tissue) ดังนั้นเราจึงต้องทำการวางแผนเพื่อที่จะย้ายน้องสามพรานให้ออกจากบริเวณพื้นที่เกษตรกรรม มายังบริเวณหลังที่ทำการเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน โดยแผนการของเราในครั้งนี้ การใช้ วิธีทางวิทยาศาสตร์ร่วมกับวิธีทางวัฒนธรรม วิธีการทางวิทยาศาสตร์ของเราคือการ การใช้การยิงยาซึมเพื่อให้น้องพลายสามพรานของเราควบคุมได้ง่ายขึ้น Combination ที่เราใช้ในครั้งนี้คือ Xylazine+Acepromazine ค่ะ Xylazine นั้นเป็น sedative ทำให้ซึม ส่วน Acepromazine จะทำให้ซึม พร้อมกับช่วยสงบประสาทหรือ tranquilizer ลดความตื่นเต้น แต่มีข้อควรระวังคือในเรื่อง Blood pressure ค่ะ มีหรือคะน้องช้างของเราจะยอมง่ายๆก็ต้องมีขัดขืนกันบ้าง อีกทั้งขบวนฝูงชนทั้งชาวบ้านร้านตลาด พ่อค้าแม่ค้าทั้งไอติม ลูกชิ้นปิ้ง ปลาหมึกย่าง โดยเฉพาะกองทัพนักข่าวที่ตามถ่ายภาพชนิดแทบจะเดินแซงหมอเข้าไปหาน้องช้างของเรา นั่นเป็นสาเหตุให้ยาออกฤทธิ์ได้ไม่ดีเท่าที่ควร ตามหลักการที่หากสัตว์ตื่นเต้น Xylazine จะไม่ค่อยออกฤทธิ์เต็มที่ แต่จากนั้นเมื่อเริ่มซึมแล้วเป็นขั้นตอนของพิธีกรรมคล้องช้าง ที่ทำโดยหมอช้างจากสุรินทร์ หมอช้างในที่นี้หมายถึงหมอควาญนะคะ เป็นพิธีโบราณซึ่งปัจจุบันพบเห็นค่อนข้างน้อย โดยการที่หมอช้างจะเข้าไปคล้องน้องสามพรานแล้วก็มีพี่ๆช้าง (ช้างบ้านที่นำมาจากสุรินทร์) มาเป็นเหมือนพี่เลี้ยงเดินขนาบ ทั้งด้านหัวและด้านท้ายเพื่อพาน้อง สามพรานออกมาจากป่าและขึ้นรถเพื่อขนย้าย ระหว่างที่น้องสามพรานอยู่บนรถสิบล้อ มีเหตุการณ์น่าตื่นเต้นเกิดขึ้นคือ น้องสามพรานของเราล้มลงนอนในท่า sternal recumbency ซึ่งเป็นท่าอันตรายสำหรับช้าง (แต่เป็นท่ามาตรฐาน ที่แนะนำสำหรับ ruminant ทั่วไป) ทำให้พี่หมอล็อตต้องให้ Antidote ที่ผ่านการคำนวณโดสโดยหมอกิ้ง มิสเตอร์โย(ฮิมบิน)ของเรานั้นเอง(ได้รับมอบหมายให้พก โยฮิมบิน พร้อมเข็ม เผื่อกรณีฉุกเฉินไว้ตลอดเวลา) เพื่อให้น้องช้างลุกขึ้นยืน สาเหตุที่น้องสามพรานล้มลงนอนเกิดจากการที่ยาสลบที่ใช้ออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ในช่วงแรก แต่เมื่อขึ้นรถแล้วน้องสามพรานสงบลงทำให้ยาออกฤทธิ์เต็มที่(ดีเกินไป) เลยทำให้หัวใจพี่หมอล็อตของเราทำงานหนักไปด้วย (^_^) หากให้ Xylazine คู่กับ Acepromazine แม้ผลของ Xylazine จะหมดไป แต่ฤทธิ์ของ Acepromazine ยังอยู่ และช่วยสงบประสาทได้อย่างดีด้วย สุดท้าย ทุกอย่างอยู่ในสถานการณ์ที่ควบคุมได้และประสบความสำเร็จโดยราบรื่นค่ะ หลังจากย้ายน้องสามพรานมาถึงหลังที่ทำการแล้วเราก็เฝ้าสังเกตอาการเมื่อเห็นว่าดีแล้วจึงขนกล้วยและอ้อยมาให้น้องกินเป็นการใหญ่ ไม่ต้องกลัวอาเจียนนะคะ ช้างไม่อาเจียนค่ะ จากนั้นพวกเราก็ไปเตรียมการรักษาในวันรุ่งขึ้น วันรุ่งขึ้นอีกวันเราทำการวางยาซึมน้องช้างอีกครั้งเพื่อให้ สารน้ำ ยาปฏิชีวนะ ถ่ายพยาธิ วิตามินต่างๆเพื่อบำรุงร่างกาย และให้ธาตุเหล็กด้วย ลืมบอกไปค่ะ น้องสามพรานของเราได้รับการตรวจเลือดแล้วก่อนที่จะวางยาเพื่อขนย้ายครั้งนี้ด้วยค่ะ ผลเลือดที่ออกมาชี้ให้เห็นว่าน้องช้างของเรามีภาวะโลหิตจาง จึงจำเป็นต้องให้ธาตุเหล็ก และเราได้เก็บตัวอย่างเลือดและชิ้นเนื้อบริเวณบาดแผลเพื่อตรวจสุขภาพของน้องสามพรานอีกครั้งด้วยค่ะ อ๋อ!! แล้วเราก็ยังเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อทำ gene bank โดย หมอเอ๋ ณ..ห้วยขาแข้ง และ หมอ เอ็ม ณ.บางละมุง ทำการให้ยาปฎิชีวนะ+ยาบำรุงร่างกาย ผ่านทางเส้นเลือดและกล้ามเนื้อ หมอไวกิ้ง ณ.ส่วนคุมครองฯ ทำการให้สารน้ำ+ยาบำรุง ผ่านทางเส้นเลือดใบหู ส่วน หมอฟ้า ณ.แม่ลาว หมอเฟิร์น หมอน็อต ณ.ส่วนคุ้มครองคอย เตรียมยา, เป็นเด็กวิ่งส่งยา และ ให้กำลังใจอยู่ห่างๆ (คนเยอะเดี๋ยวช้างตื่น) จากนั้นทำแผลโดยล้างและใส่ยาที่บริเวณขาหน้า หลังจากทำทุกอย่างเรียบร้อยดีแล้วเราก็ให้ antidote เพื่อให้น้องหายง่วงซึมและให้น้องกลับเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่น้องควรอยู่จริงๆตามธรรมชาติ เรามีทีมติดตามและเฝ้าดูน้องสามพรานของเราต่อไปค่ะถ้ามีข่าวคราวความคืบหน้ายังไงล่ะก็จะรีบรายงานให้ทราบในทันทีเลยจ้า ทีมงานหมอกรมรุ่นใหม่ วัยรุ่น(ยกให้พี่ล็อตเป็นรุ่นป๋า ค่ะ) ก็ได้เรียนรู้ ระบบ กระบวนการ การวางแผนย้ายช้าง เพราะอนาคตคงจะต้องมีเรื่องเช่นนี้อีกหลายที่ หากการจัดการสัตว์ป่าบ้านเรายังไม่มีทิศทางชัดเจน และไม่มีแผนการจัดการสัตว์ป่าอย่างทุกวันนี้ ทีมงานหมอกรมอุทยานฯ หมอล็อต , หมอไวกิ้ง, หมอน็อต, หมอฟ้า, หมอเฟิร์น, หมอเอ๋, หมอเอ็ม ,หมอเจี๊ยบ ขอขอบคุณสำหรับความร่วมมือจากทุกๆฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในครั้งนี้ค่ะ ขอบคุณ Editor ที่น่ารักของเรา ที่ช่วยดูแลแก้ไขและเพิ่มเติมบทความของเราให้สมบูรณ์ด้วยค่ะ ^_^ เนื้อหาบางส่วนอาจเป็นวิชาการไปนิด ทีมงานจดหมายข่าวขอมา ให้สอดแทรกเนื้อหาความรู้เข้ามาด้วยค่ะ เผื่อคนที่ยังไม่รู้จะได้ความรู้น่ะค่ะ โดย น้องหมี จิ๊ก ก๋อ ณ เคี่ยวหก

2 comments:

YingeXtreme said...

นับว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีนะคะที่มีผู้เกี่ยวข้องจากหลายๆฝ่ายมาช่วยกันย้ายน้องพลายสามพรานไปในที่เหมาะสม หญิงดู Clip แล้วสงสารทั้งช้างทั้งคุณหมอเลยล่ะค่ะ...

belle said...

เขขียนตัวจังเลยอิอิ