Sunday, February 10, 2008

โรคสำคัญที่ควรเฝ้าระวังในการเลี้ยงสัตว์ป่า (ประเภทสัตว์กีบ)

โดย งานสัตวแพทย์ ส่วนคุ้มครองสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช

โรควัณโรค (Tuberculosis, TB)
เป็นโรคเรื้อรังที่ติดต่อระหว่างสัตว์และคน เป็นได้ในสัตว์เกือบทุกชนิด
สาเหตุ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium bovis ซึ่งเชื้อจะถ่ายทอดโดยตรงจากตัวป่วยสู่ตัวปกติผ่านทางลมหายใจ การกินอาหาร และน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ การเลี้ยงแบบแออัดจะเป็นปัจจัยเสริมให้โรคแพร่ระบาดได้อย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น
อาการ สัตว์ป่วยจะแสดงอาการในระยะท้ายๆ ของโรค เนื่องจากขบวนการก่อโรคเป็นไปอย่างช้าๆ แบบเรื้อรัง จนกระทั่งเกิดรอยโรคที่มีลักษณะเป็นก้อนฝีอยู่ในอวัยวะต่างๆ จึงจะแสดงอาการเช่น ไอ เหนื่อยง่าย ผอม หลังจากแสดงอาการได้ไม่นานก็ตาย

การรักษา ไม่ทำการรักษา เนื่องจากไม่ให้ผลดี และใช้ระยะเวลานาน

การควบคุม/ป้องกัน
ตรวจดูลักษณะอาการทั่วไป น้ำหนักลด ซูบผอม มีอาการเกี่ยวกับระบบหายใจ ต่อมน้ำเหลืองบวมโต
การทดสอบทางผิวหนัง เน้นการทดสอบโรคโดยการฉีดสารทูเบอร์คูลินเข้าชั้นผิวหนัง ที่บริเวณใต้โคนหาง หรือแผงคอ อ่านผลโดยการวัดความหนาของชั้นผิวหนังหลังฉีด 72 ชั่วโมง


โรคปากและเท้าเปื่อย (Foot and Mouth Disease, FMD)
สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัส Aphthovirus โดยตัวป่วยจะมีเชื้ออยู่เป็นจำนวนมากในน้ำมูก น้ำลาย ปัสสาวะ และอุจจาระ ปนเปื้อนอยู่ในพื้นคอกและวัสดุต่างๆ และถ่ายเชื้อให้ตัวปกติโดยการสัมผัสสิ่งปนเปื้อนและสัมผัสตัวป่วยโดยตรง

อาการ สัตว์ที่ไม่ไวต่อโรค อาจรับเชื้อโดยไม่แสดงอาการหรือแสดงอาการเล็กน้อย เช่น อาจมีตุ่มใสในปากเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนตัวที่ไวต่อโรคจะแสดงอาการรุนแรง น้ำลายไหลมาก ซึม เดินกะเผลก และมีแผลหลุมบนเยื่อเมือกปาก และอาจตายได้

การรักษา ทายาเย็นเชี่ยนไวโอเล็ต(ยาม่วง)ที่แผลในปาก และกีบ ร่วมกับการฉีดยาปฏิชีวนะป้องกันเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน

การควบคุม/ป้องกัน ยังไม่มีการทดลองใช้วัคซีนในกวาง
 
โรคแท้งติดต่อ (Brucellosis)
เป็นโรคติดต่อระหว่างคนและสัตว์ และเป็นได้ในสัตว์หลายชนิด เช่น โค กระบือ สุกร แพะ แกะ สุนัข ม้า และกวาง

สาเหตุ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Brucella spp. ติดต่อโดยเชื้อที่มีอยู่ในลูกแท้ง รก และปัสสาวะของตัวป่วย ผ่านเข้าทางปาก เยื่อเมือกของจมูก ตาขาว ช่องคลอด และลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย แล้วไปยังอวัยวะเป้าหมายได้แก่ มดลูกที่ตั้งครรภ์ ต่อมน้ำนม ม้าม ลูกอัณฑะ ต่อมน้ำเหลือง และข้อต่อ

อาการ สัตว์ป่วยจะแท้งลูก ลูกตายขณะคลอด ผสมไม่ติด รกค้าง ลูกอัณฑะอักเสบ ขากะเผลกอย่างรุนแรง และข้อขาบวม

การรักษา ไม่ทำการรักษา

การควบคุม/ป้องกัน ทำการตรวจโรคนี้ให้แก่กวางทุกตัวในฝูงปีละ 1 ครั้ง แล้วคัดตัวป่วยออก นอกจากนี้ควรตรวจโรคกวางก่อนซื้อ และซื้อกวางจากฟาร์มที่ไม่มีประวัติการป่วยด้วยโรคนี้

โรคพาราทูเบอร์คูโลซิส (Johnne's disease)
เป็นโรคเรื้อรังของระบบทางเดินอาหารของสัตว์สี่กระเพาะ เช่น กวาง โค แพะ และแกะ

สาเหตุ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium paratuberculosis ซึ่งเชื้อจะผ่านทางอุจจาระตัวป่วย เข้าสู่ตัวปกติทางการกินน้ำ อาหาร การเลียเต้านมที่ปนเปื้อนเชื้อ และทางน้ำนม

อาการ สัตว์ป่วยจะแสดงอาการท้องเสียอย่างรุนแรง และเรื้อรังเป็นเวลานาน ทำให้ซูบผอม ขาดน้ำ และตาย อัตราการตายอาจสูงถึง 30% ในกวางอายุระหว่าง 8 - 15 เดือน โดยเฉพาะลูกสัตว์แรกเกิดจะมีอัตราการตายสูงมาก

การรักษา ไม่นิยมทำการรักษา 

การควบคุม/ป้องกัน ยังไม่มีการใช้วัคซีนในกวาง ควรกำจัดตัวป่วยโดยการทดสอบทางภูมิคุ้มกันในเลือด
 
โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax)
สาเหตุและการแพร่โรค โรคนี้มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Bacillus anthracis ส่วนมากเกิดจากการหายใจเอาสปอร์ของเชื้อที่ปนเปื้อนอยู่ในดินหรือหญ้าเข้าสู่ร่างกาย หรือเกิดจากการกินน้ำและอาหารที่มีเชื้อปะปนอยู่เข้าไป อีกทั้งการติดเชื้อทางบาดแผล เมื่อเชื้อเข้าตัวสัตว์แล้วจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นกระจายอยู่ตามอวัยวะต่างๆ  พร้อมกับสร้างสารพิษขึ้นมาทำให้สัตว์ป่วยและตายในที่สุด ในระหว่างสัตว์ป่วยเชื้อจะถูกขับออกมากับอุจจาระ น้ำปัสสาวะหรือน้ำนม หรือทำการเปิดผ่าซาก เชื้อนี้เมื่อสัมผัสกับอากาศก็จะสร้างสปอร์ในเวลาเวลา 2-3ชั่วโมง เพื่อให้ตัวเชื้อคงทนอยู่ในสภาพแวดล้อมต่างๆ ได้ โดยสปอร์สามารถอยู่ในดินได้นานกว่า 10 ปี ขึ้นไป มีโอกาสที่จะเกิดโรคในที่แห่งเดิมได้อีกถ้าสภาวะแวดล้อมเหมาะสมในการเจริญเติบโตของเชื้อ และเชื้อคงทนในน้ำเดือดได้นานถึง 30 นาที

อาการ แบบเฉียบพลัน ตายอย่างรวดเร็ว สัตว์จะมีอาการซึม หายใจเร็ว ลึก หัวใจเต้นเร็ว ไข้สูงประมาณ 107 องศาฟาเรนไฮท์ เยื่อชุ่มต่างๆ มีเลือดคั่งหรือมีจุดเลือดออก กล้ามเนื้อสั่นบวมน้ำตามลำตัว ท้องอืดและตายในที่สุด เมื่อสัตว์ตายจะมีเลือดสีดำคล้ำไหลออกตามทวารต่างๆ เช่น จมูก ปาก ทวารหนักหรือแม้แต่ขุมขน ซากสัตว์จะขึ้นอืดเร็ว ไม่แข็งตัว ห้ามทำการผ่าซากถ้าสงสัยว่าเป็นโรคนี้

โรคพยาธิใบไม้ในตับ (Liver fluke)
สาเหตุ Fasciola hepatica และ Fascioloides magna โดยมีหอย Lymnaea เป็นพาหะ มักติดพยาธิได้ในแหล่งชื้นแฉะ เนื่องจากความชื้นเป็นสิ่งจำเป็นในวงจรชีวิตของพยาธิโดยเฉพาะการเติบโตของไข่พยาธิ และการเคลื่อนที่ของตัวอ่อน

อาการ อาจไม่แสดงอาการ หรือโลหิตจาง ผอม

การรักษา ให้ยาถ่ายพยาธิ 

การควบคุม/ป้องกัน กำจัดหอยที่เป็นพาหะ  ให้ยาถ่ายพยาธิปีละ 1 - 2 ครั้ง

โรคอนาพลาสโมซิส (Anaplasmosis)
สาเหตุ เกิดจากเชื้อ Anaplasma marginale การแพร่โรคไม่จำเป็นจะต้องอาศัยสิ่งมีชีวิตเป็นตัวนำโรค แต่อาศัยการสัมผัส(mechanical transmission) ได้แก่ แมลงทุกชนิด เข็มฉีดยา และอุปกรณ์ต่าง ๆ

อาการ จะขึ้นกับปริมาณเชื้อที่สัตว์ได้รับ ในกรณีที่ติดเชื้อจำนวนไม่มาก กวางจะเป็นตัวอมโรค โดยไม่แสดงอาการ แต่ในกรณีที่มีเชื้อจำนวนมากจะทำให้กวางเกิดโรคโลหิตจางอย่างรุนแรง

ารรักษา ใช้ยา Oxytetracycline 

การควบคุม/ป้องกัน จะต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ทุกชนิดที่ใช้ในการเลี้ยง

โรคพยาธิเม็ดเลือด (Trypanosome)
สาเหตุ เกิดจากเชื้อ Trypanosoma evansi เป็นโปรโตซัวที่มีอยู่ในกระแสโลหิตของสัตว์เคี้ยวเอื้องทั้ง โค กระบือ และกวาง รวมไปทั้ง สุกร ม้า และสุนัข สามารถพบเชื้อนี้ได้ทั่วไป แต่จะรุนแรงในอูฐ ม้า สุนัข และช้าง พบมากในช่วงฤดูฝน โดยจะมีเหลือบ และแมลงวันคอกเป็นพาหะนำโรค

อาการ ไข้สูง โลหิตจาง ดีซ่าน บวมน้ำตามลำคอ เบื่ออาหาร โดยมักเกิดในช่วงที่มีไข้สูง สัตว์ที่ท้องจะแท้งลูก กระจกตาขุ่น เกิดอัมพาตที่ร่างกายส่วนท้าย สัตว์จะตายได้ ในบางรายจะแสดงอาการทางประสาทร่วมด้วย

การรักษา ตัวยา Diminazene aceturate

การควบคุม/ป้องกัน กำจัดแมลงดูดเลือดที่เป็นพาหะของโรค และมีการให้ยาในขนาดต่ำๆ เป็นประจำโดยเฉพาะช่วงต้นของฤดูฝน

โรคมงคล่อเทียม (Melioidosis)
เป็นโรคที่พบได้ในสัตว์พวก โค กระบือ สุกร แพะ แกะ กวาง สุนัข แมว หนู และม้า โรคนี้พบในทุกภาคของประเทศไทยและพบมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถติดต่อถึงคนได้
สาเหตุ เชื้อแบคทีเรีย Burkholderia pseudomallei
การติดต่อ เชื้อแบคทีเรีย ชนิดนี้ พบได้ทั่วไปในดิน น้ำ โคลนตม สามารถอยู่ในน้ำได้นานประมาณ 8 สัปดาห์และอยู่ในโคลนตมได้ประมาณ 7 เดือน สัตว์เป็นโรคนี้ได้จากการกินหรือหายใจเอาเชื้อเข้าไปหรือเชื้อเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล โรคมงคล่อเทียมจะพบมีการระบาดมากในช่วงฤดูฝน

อาการ โรคแบบเรื้อรัง ร่างกายจะซูบผอม มีไข้ หายใจหอบ น้ำมูก น้ำลายไหล จะแสดงอาการอยู่นาน 2 - 3 เดือนแล้วก็ตาย บางตัวอาจแสดงอาการทางระบบประสาท เช่น เดินขาหลังอ่อนไม่มีแรง ชนคอก เป็นต้น ในเพศผู้อาจพบลูกอัณฑะบวมโตข้างในข้างหนึ่งเสมอ เนื่องจากมีหนองแทรกอยู่ระหว่างลูกอัณฑะและหนังหุ้มลูกอัณฑะ 
การตรวจวินิจฉัย ให้สังเกตจากอาการและเก็บตัวอย่าง เช่น เลือด น้ำมูก น้ำนม น้ำเมือกจากช่องคลอดส่งห้องปฏิบัติการ ในกรณีกวางตายเมื่อเปิดผ่าซากให้เก็บอวัยวะภายในต่างๆที่พบตุ่มหนองและเก็บเนื้อสมอง ไขสันหลัง ถ้ากวางตัวนั้นมีอาการทางระบบประสาทด้วย
การรักษา ให้ยาปฎิชีวนะ

การควบคุมและป้องกัน

1. แยกกวางที่แสดงอาการป่วยออกจากฝูง

2. ทำความสะอาดพื้นคอกและปล่อยให้พื้นแห้ง เพราะถ้ามีการเปียกแฉะจะทำให้เป็นที่อยู่ของเชื้อแบคทีเรียตัวนี้ได้ดี

An Official ZWVST Blog Discussion Topic

2 comments:

Anonymous said...

มาแล้วครับ ตามนัดหมาย ขอขอบคุณทีมงานสัตวแพทย์ กรมอุทยานฯ ที่ได้เขียนบทความที่ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้อ่าน

แต่ว่าต้องขออภัยในความผิดพลาดของผมเองที่ยังชี้แจงถึงลักษณะของบทความที่ต้องการไม่ชัดเจน จึงกลายเป็นบทความเพื่อประชาชนทั่วไปอ่าน ไม่เป็นไรครับ ถือซะว่าเรามาอ่านปูพื้นฐาน ทบทวนความรู้ร่วมกัน สงสัยสิ่งใด ก็ยังสามารถสอบถามได้ตามปกติ และอยากให้เขียนอธิบายทางด้านใหนเพิ่มเติมก็ลงความเห็นไว้ได้ครับ

ซึ่งผู้แต่งได้กรุณาว่าจะกลับไปค้นคว้า เรียบเรียงขึ้นมาใหม่ให้ลึกซึ้งในหัวข้อ “โรคแท้งติดต่อในสัตว์ป่าพื้นที่ห้วยขาแข้ง-ทุ่งใหญ่นเรศวร” จึงขอเชิญกลับมาอ่าน Official ZWVST Blog Discussion ฉบับลึกล้ำในปลายสัปดาห์ครับ จึงถือว่าสัปดาห์นี้เป็นโบนัสครับ มี 2 บทความ

Anonymous said...

เอกสารนี้ทางกรมฯ ได้จัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่ให้แก่ประชาชนที่มาจดทะเบียนขออนุญาติเลี้ยงสัตว์ป่า ซึ่งมีทั้งชาวบ้านและฟาร์มรายใหญ่

โดยต้องการให้สั้น กระชับ เข้าใจง่าย ท่านผู้อ่านคิดว่าเนื้อความนั้นครอบคลุมเพียงพอหรือไม่ ชาวบ้านอ่านแล้วเกิดความเข้าใจ ตระหนัก และนำไปปฏิบัติได้หรือไม่ ขอเชิญช่วยกันออกความคิดเห็นครับ